9/10/2007

ปุ๋ยหมัก

วิธีทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง


วัตถุดิบ :


1. เศษพืช เช่น ใบไม้ กิ่งไม้แห้งและสด 100 ส่วน
2. ปุ๋ยคอก 10 ส่วน
3. ปุ๋ยยูเรีย 1 ส่วน*
4. ผงซักฟอกละลายน้ำเล็กน้อย
5. ตะแกรง
* ใส่หรือไม่ ก็ได้ค่ะ

ขั้นตอนการทำ :

1. เตรียมพื้นที่สำหรับปุ๋ยหมักก่อนค่ะ โดยที่คุณอาจขุดหลุมขนาด 50 เซนติเมตร หรือจะใช้ถังซีเมนต์มาวางซ้อนกันสัก 2-3 ชั้นก็ได้ค่ะ วางตะแกรงในชั้นที่สองเพื่อให้ชั้นล่างเป็นที่ว่าง เปิดช่องสำหรับการนำปุ๋ยหมักไปใช้ได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. นำเศษกิ่งแห้งและสดผสมคลุกเคล้าให้ทั่ว หากใบไม้แห้งไป ใช้ผงซักฟอกผสมน้ำเล้กน้อยเพื่อให้ใบจับกับน้ำดีขึ้น ความชื้นควรอยู่ในระดับที่เมื่อลองกำดูแล้วให้ความรู้สึกมากกว่าหมาด แต่ไม่ถึงกับเปียก
3. ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยยูเรีย โรยสลับกันเป็นชั้นๆ หรือผสมคลุกเคล้ากับวัสดุ แล้วใส่ลงในหลุมหรือบ่อซีเมนต์ที่เราเตรียมไว้
4. กดกองวัสดุให้อัดตัวกัน แต่อย่าให้แน่นเกินไป เพื่อให้เกิดความร้อนภายในกองปุ๋ยหมัก หมั่นกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้มีการเติมอากาศเข้าไป
5. ระยะเวลาการย่อยสลายของวัสดุขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุและกระบวนการที่เกิดขึ้น อาจใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ถ้าเห็นว่าปุ๋ยหมักมีสีเข้มก็นำไปใช้ได้ค่ะ ลองใช้มือบดถ้าสามารถขาดออกจากกันได้ง่าย มีกลิ่นคล้ายกลิ่นธรรมชาติ ไม่ฉุน หรือเหม็นรุนแรง หากทำในบ่อซีเมนต์ สามารถเก็บปุ๋ยหมักที่ร่วงจากตะแกรงไปใช้ได้เลยค่ะ

คุณสมบัติของปุ๋ยหมัก :

ปุ๋ยหมักมีคุณสมบัติในการปรับปรุงโครงสร้างดินให้ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี อุ้มน้ำรักษาความชื้นในดิน จึงเหมาะที่จะนำไปปลูกต้นไม้ เพราะรากของต้นไม้จะสามารถชอนไชและเจริญเติบโตได้ดีก ทำให้ต้นไม้ดูดน้ำและธาตุอาหารในดินได้มาก
ทั้งยังมีส่วนเร่งการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ช่วยยึดธาตุอาหารในดิน และปลดปล่อยธาตุอาหารในดินออกมาอย่างช้าๆ

การนำไปใช้ :

ใช้รองก้นหลุม หรือพรวนดินแล้วนำไปโรยรอบๆ โคนต้นผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน สามารถใช้ได้ไม่จำกัดปริมาณ เพราะปุ๋ยหมักมีธาตุอาหารที่ไม่สูงจนเกิดอันตรายกับต้นไม้ หากต้องการเพิ่มผลผลิตอาจเพิ่มปุ๋ยเคมีร่วมด้วยก็ได้

Tips :

1. เปลือกถั่ว ฟางข้าว ผักตบชวา ใบไม้แห้ง หญ้า สลายตัวได้เร็ว ขี้เลื่อย แกลบ ชานอ้อย ข้าวโพด สลายตัวได้ช้า จึงไม่ควรนำทั้งสองประเภทมาหมักรวมกัน เพราะจะทำให้ได้ปุ๋ยที่ย่อยสลายไม่สม่ำเสมอ
2. ควรหมักหญ้าผสมกับวัสดุอื่น เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ เพราะหากใช้หญ้าอย่างเดียว จะเกิดการอัดตัวสานไปมาของหญ้า จนไม่มีอากาศในกองวัสดุ ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดจุลินทรีย์ได้
3. ปุ๋ยหมักช่วยทดแทนธาตุอาหารได้เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี หากแต่ช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย รากต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี ต้นไม้หาอาหารได้ง่ายขึ้น

สำหรับสวนสวย ต้นไม้งามของคุณค่ะ

1 ความคิดเห็น:

Kawita said...

แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ค่ะ